เพลงหน้าพาทย์ คือ เพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาเคลื่อนไหวหรือ พฤติกรรมต่างๆ และอารมณ์ของตัวละคร ยกตัวอย่างเช่น
- เพลงโอดสำหรับร้องไห้ เสียใจ
- เพลงกราวรำสำหรับเยาะเย้ยสนุกสนาน
- เพลงเชิดฉานสำหรับพระรามตามกวาง
- เพลงแผละสำหรับครุฑบิน
- เพลงคุกพาทย์สำหรับทศกัณฐ์แสดงอิทธิฤทธิ์ความโหดร้าย หรือสำหรับหนุมานแผลงอิทธิฤทธิ์ หาวเป็นดาวเป็นเดือน   
นอกจากนั้นยังหมายถึงเพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาที่ไม่เห็นตัวตน เช่น เพลงสาธุการ เพลงตระเชิญ เพลงตระนิมิต เพลงกระบองกัน สำหรับเชิญเทพยดาให้เสด็จมา ซึ่งไม่มีใครมองเห็นการเสด็จมาของเทพยดาในเวลานั้น และยังเป็นเพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาที่เป็นอดีตไม่ใช่ปัจจุบันเช่น เมื่อพระเทศน์มหาชาติกัณฑ์มัทรีจบลง ปี่พาทย์บรรเลงเพลงทยอยโอด คือ บรรเลงเพลงโอดกับเพลงทยอยสลับกัน เพื่อประกอบกิริยาคร่ำครวญ โศกเศร้า เสียใจของพระนางมัทรี เพลงหน้าพาทย์นิยมบรรเลงดนตรีเพียงอย่างเดียว ไม่มีร้อง

เพลงหน้าพาทย์แบ่งตามฐานันดร  แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
๑. หน้าพาทย์ธรรมดา ใช้บรรเลงประกอบกิริยาอารมณ์ของตัวละครที่เป็นสามัญชน ไม่บังคับความยาว การจะหยุด ลงจบ หรือเปลี่ยนเพลง ผู้บรรเลงจะต้องดูท่ารำของตัวละครเป็นหลัก เพลงหน้าพาทย์ชนิดนี้โดยมากใช้กับการแสดงลิเกหรือละคร เช่น เพลงเสมอ เพลงเชิด เพลงรัว เพลงโอด
๒. หน้าพาทย์ชั้นสูง ใช้บรรเลงประกอบกิริยาอารมณ์ของตัวละครผู้สูงศักดิ์หรือเทพเจ้าต่างๆ บังคับความยาว ผู้รำจะต้องยืดทำนองและจังหวะของเพลงเป็นหลักสำคัญ จะตัดให้สั้นหรือเติมให้ยาวตามใจชอบไม่ได้ โดยมากใช้กับการแสดงโขน ละคร และใช้ในพิธีไหว้ครู ครอบครูดนตรีปละนาฎศิลป์ เช่น เพลงตระนอน  เพลงกระบองกัน  เพลงตระบรรทมสินธุ์  เพลงบาทสกุณี  เพลงองค์พระพิราพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงอนงค์พระพิราพ ถือกันว่าเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงสุดในบรรดาเพลงหน้าพาทย์ทั้งหลาย

เพลงหน้าพาทย์แบ่งตามหน้าที่การนำไปใช้ประกอบการแสดงของตัวละคร  แบ่งได้ ๗ ลักษณะ คือ
๑. เพลงหน้าพาทย์ประกอบกิริยาไปมา เช่น
เพลงเสมอ       ใช้ประกอบกิริยาการเดินทางระยะใกล้ ไปอย่างช้าๆ ไม่รีบร้อน
เพลงเชิด        ใช้ประกอบกิริยาการเดินทางระยะไกลไปมาอย่างรีบร้อน
๒. เพลงหน้าพาทย์ประกอบการยกทัพ  เช่น
เพลงกราวนอก  สำหรับการยกทัพของมนุษย์ ลิง
เพลงกราวใน     สำหรับการยกทัพของยักษ์
๓. เพลงหน้าพาทย์ประกอบความสนุกสนานร่าเริง  เช่น
เพลงกราวรำ      สำหรับกิริยาเยาะเย้ย
เพลงสีนวล        สำหรับแสดงความรื่นเริง
๔. เพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฎิหารย เช่น
เพลงตระนิมิตร   สำหรับการแปลงกาย ชุบคนตายให้ฟื้น
เพลงคุกพาทย์     สำหรับการแสดงอิทธิฤทธิ์ หรือเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัว
๕. เพลงหน้าพาทย์ประกอบการต่อสู้และการติดตาม เช่น
เพลงเชิดนอก    สำหรับการต่อสู้หรือการไล่ติดตามของตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น หนุมานไล่จับนางสุพรรณมัจฉา หนุมานไล่จับนางเบญกาย
เพลงเชิดฉาน   สำหรับตัวละครที่เป็นมนุษย์ไล่ตามสัตว์ เช่น พระรามตามกวาง
๖. เพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดงอารมณ์ทั่วไป เช่น
เพลงกล่อม      สำหรับการขับกล่อมเพื่อการนอนหลับ
เพลงโลม        สำหรับการเข้าพระเข้านาง  การเล้าโลมด้วยความรัก 
เพลงโอด        สำหรับการร้องไห้
เพลงทยอย      สำหรับอารมณ์เสียใจหรือเศร้าใจขณะที่เคลื่อนที่ไปด้วย เช่น ช่วงที่เดินพลางร้องไห้พลาง
๗. เพลงหน้าพาทย์เบ็ดเตล็ด เช่น
เพลงตระนอน   แสดงการนอน
เพลงลงสรง      สำหรับการอาบน้ำ
เพลงเซ่นเหล้า   สำหรับการกินดื่มสุรา
เพลงหน้าพาทย์ทั้ง ๗ ลักษณะ ล้วนเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่นำมาใช้ในการแสดงต่างๆ เช่น ลิเก ละครและโขนอยู่บ่อยๆ

เพลงรับร้อง คือเพลงที่บรรเลงรับจากการร้อง คือ เมื่อคนร้องได้ร้องจบไปแล้วแต่ละท่อน ดนตรีก็ต้องบรรเลงรับในท่อนนั้น โดยส่วนใหญ่มักเป็นเพลงอัตราสามชั้น เพลงเถา และเพลงตับ เช่น เพลงจระเข้หางยาว ๓ ชั้น เพลงสี่บท ๓ ชั้น เพลงบุหลันเถา และเพลงยานี เป็นต้น

เพลงเถา หมายถึง เพลงขนาดยาวที่มีเพลงสามชนิดติดต่ออยู่ในเพลงเดียวกัน โดยการบรรเลงเพลงอัตราสามชั้นก่อน แล้วเป็นเพลงอัตราสองชั้น ลงมาจนถึงเพลงอัตราชั้นเดียว

เพลงตับ หมายถึง เพลงที่บรรเลงเป็นเรื่อง มีแขนงย่อยแบ่งออกเป็น ตับเรื่อง และตับเพลง
๑. ตับเรื่อง  หมายถึง เพลงที่นำมารวมร้องและบรรเลงติดต่อกัน มีบทร้องที่เป็นเรื่องเดียวกัน และดำเนินไปโดยลำดับ ฟังแล้วรู้เรื่องโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ  ส่วนทำนองเพลงจะเป็นคนละอัตราและคนละประเภท เช่น ตับนางลอย ตับพระลอ (ตับเจริญศรี) และตับนางซินเดอริลลา
๒. ตับเพลง หมายถึง เพลงที่นำมารวมร้องและบรรเลง จะต้องมีสำนวนและทำนองสอดคล้องต้องกัน คือ มีเสียงขึ้นต้นเพลงและสำเนียงคล้ายกัน เป็นเพลงในอัตราจังหวะเดียวกัน ได้แก่ เพลงอัตราสองชั้น เช่น ตับต้นเพลงฉิ่ง หรือเพลงอัตราสามชั้น เช่น ตับลมพัดชายเขา ตับต้นเพลงฉิ่ง

เพลงละคร คือ เพลงที่ใช้ขับร้องและบรรเลงในการแสดงโขน ละคร และมหรสพต่างๆ มีทั้งร้องแล้วดนตรีรับ ทั้งร้องคลอดนตรี เคล้า และลำลอง ขึ้นอยู่กับลักษณะการแสดงนั้น
ตัวอย่างเพลงละคร ได้แก่ เพลงอัตราสองชั้น เช่น เพลงสร้อยเพลง เพลงเวสสุกรรม เพลงพญาโศก หรือเพลงอัตราเดียว เช่น เพลงนาคราช เพลงหนีเสือ เพลงลิงโลด  รวมถึงเพลงพิเศษที่ใช้เฉพาะละครแท้ๆ เช่น เพลงช้าปี่ เพลงโอ้ชาตรี เพลงโอ้โลม เพลงโอ้ร่าย เพลงยานี เพลงชมตลาด เป็นต้น

เพลงเบ็ดเตล็ด ได้แก่ เพลงเล็ก ๆ สั้น ๆ สำหรับใช้บรรเลงเป็นพิเศษ เช่น บรรเลงต่อท้ายเพลงใหญ่เป็นเพลงลูกบทหรือเพลงหางเครื่อง และเพลงภาษา ต่าง ๆ ซึ่งบรรเลงเพื่อสนุกสนาน

เพลงหางเครื่อง (เพลงลูกบท) คือ เพลงสั้นๆและดูน่าแปลก ที่บรรเลงต่อจากเพลงแม่บท (เพลงเถาหรือเพลงสามชั้น)โดยทันทีทันใดหลังจากที่บรรเลงเพลงนั้นจบลงแล้ว เป็นเพลงในอัตราจังหวะสองชั้นหรือชั้นเดียว ที่มีท่วงทำนองค่อนข้างเร็ว กระฉับกระเฉง ให้ความเพลิดเพลินสนุกสนาน และเป็นเพลงที่มีเสียงและสำเนียงเดียวกันกับแม่บทที่บรรเลงนำมาก่อน เช่น บรรเลงเพลงแขกมอญบางขุนพรหม (เป็นเพลงเถา) จบแล้วจะบรรเลงต่อท้ายด้วยเพลงมอญมอบเรืออัตราจังหวะสองชั้น การบรรเลงเพลงหางเครื่องจะจบด้วยการออกลูกหมดเสมอ และนิยมบรรเลงเฉพาะดนตรีอย่างเดียว ไม่มีร้อง

เพลงภาษา หมายถึง เพลงไทยที่มีชื่อขึ้นต้นเป็นชื่อของชาติอื่นหรือภาษาอื่น เช่น เพลงจีนขิมเล็ก เพลงเขมรพายเรือ เพลงมอญรำดาบ เพลงมอญรำดาบ เพลงพม่ารำขวาน เพลงแขกยิงนก เพลงฝั่งรำเท้าเป็นต้น เพลงภาษาเป็นเพลงที่นักดนตรีไทยได้แต่งขึ้นเองโดยเลียนสำเนียงภาษาของต่างประเทศ เป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้น คล้ายกับเพลง หางเครื่องต่างกันตรงที่ เพลงหางเครื่องนิยมบรรเลงต่อท้ายเพลงแม่บทที่บรรเลงนำมาก่อนเพียงหนึ่งเพลงหรือสองเพลงเท่านั้น และต้องเป็นเพลงที่มีเสียงหรือสำเนียง เดียวกันกับเพลงแม่บทถ้าเป็น เพลงภาษาที่บรรเลงติดต่อกันไปหลายๆภาษาจะเรียกว่า"ออกภาษา"หรือ"ออกสิบสองภาษา"

 

กลับไปหน้าหลัก

Free Web Hosting