การผสมผสานของเครื่องดนตรีไทย

เมื่อไทยได้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้น และหลังจากที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้แล้ว นับตั้งแต่นั้นมา จึงปรากฏหลักฐานด้านดนตรีไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งในหลักศิลาจารึก หนังสือวรรณคดี และเอกสารทางประวัติศาสตร์ในแต่ละยุค ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาถึงความเจริญ และวิวัฒนาการของการผสมวงดนตรีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา พอจะสรุปได้..... การผมวงดนตรีไทยในยุคสมัยต่าง ๆ เมื่อไทยได้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้น และหลังจากที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้แล้ว นับตั้งแต่นั้นมา จึงปรากฏหลักฐานด้านดนตรีไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งในหลักศิลาจารึก หนังสือวรรณคดี และเอกสารทางประวัติศาสตร์ในแต่ละยุค ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาถึงความเจริญ และวิวัฒนาการของการผสมวงดนตรีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา พอจะสรุปได้ ดังต่อไปนี้ วงดนตรีไทยสมัยสุโขทัย จากหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ( ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 1837 ) หลักที่ 1 ด้านที่ 2 มีอยู่ตอนหนึ่งว่า “ ดบงํคกลอย ด้วยเสียงพาทย์เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักเลื่อน เลื่อน ” เสียงพาทย์นั้นหมายถึงเครื่องตีและเครื่องดีดเกิดขึ้นแล้ว และจากการรวบรวมหลักฐานหลาย ๆ อย่างมาประกอบจากศิลาจารึก มีคำว่า สีซอพุงตอ ซึ่งครูบาอาจารย์ผู้ชำนาญการทางด้านดนตรีไทยได้สันนิษฐานไว้ว่า น่าจะเป็นซอสามสายนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีอื่น ๆ อีก ได้แก่ แตร, สังข์, มโหระทึก, ฆ้อง, กลอง, ฉิ่ง, แฉ่ง ( ฉาบ ), บัณเฑาะว์, พิณ, ซอพุงตอ ,ปี่ไฉน, ระฆัง, และกังสดาล เป็นต้น ส่วน ลักษณะของการผสมวงดนตรี ก็ปรากฏหลักฐานทั้งในหลักศิลาจารึกและหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึง “ เสียงพาทย์ เสียงพิณ ” ซึ่งจากหลักฐานที่กล่าวนี้ สันนิษฐานว่า วงดนตรีในสมัยสุโขทัย มีดังนี้ คือ 1. วงบรรเลงพิณ มีผู้บรรเลง 1 คน ทำหน้าที่ดีดพิณและร้องไปด้วย เป็นลักษณะของการขับลำนำ 2. วงขับไม้ ประกอบด้วยผู้เล่น 3 คน คือ คนขับลำนำ 1 คน คนสีซอสามสาย คลอเสียงร้อง 1 คน และคนไกวบัณเฑาะว์ให้จังหวะ 1 คน 3. วงปี่พาทย์ เป็นลักษณะของวงปี่พาทย์เครื่อง 5 มี 2 ชนิด คือ 3.1 วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างเบา ประกอบด้วยเครื่องดนตรีชนิดเล็ก ๆ จำนวน 5 ชิ้น คือ ปี่, กลองชาตรี, ทับ (โทน), ฆ้องคู่ และฉิ่ง ใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครชาตรี (เป็นละครที่เก่าแก่ที่สุดของไทย) 3.2 วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างหนัก ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 5 ชิ้น คือ ปี่ใน, ฆ้องวง(ใหญ่) ตะโพน, กลองทัด (ใช้ใบเดียว)และ ฉิ่ง ใช้บรรเลงประโคมในงานพิธีและบรรเลงประกอบการแสดงมหรสพต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าวงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างหนักในสมัยนี้จะยังไม่มีระนาดเอก 4. วงมโหรี เป็นลักษณะของวงดนตรีอีกแบบหนึ่ง ที่นำเอาวงบรรเลงพิณกับวงขับไม้มาผสมกัน เป็นลักษณะของวงมโหรีเครื่องสี่ เพราะประกอบด้วยผู้เล่น 4 คน คือ 1. คนขับลำนำและตีกรับพวงให้จังหวะ 1 คน 2. คนสีซอสามสายคลอเสียงร้อง 1 คน 3. คนดีดพิณ 1 คน 4. คนตีทับ ( โทน ) ควบคุมจังหวะ 1 คน วงดนตรีไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา หลักฐานเกี่ยวกับดนตรีไทยในสมัยนี้ ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งระบุเครื่องดนตรีไทยเพิ่มขึ้นจากที่เคยระบุไว้ในหลักฐานสมัยสุโขทัย จึงน่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยนี้ ได้แก่ กระจับปี่, ขลุ่ย, จะเข้, และรำมะนา นอกจากนี้ในกฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ( พ.ศ. 1991 - 2031) ปรากฏข้อห้ามตอนหนึ่งว่า “ …ห้ามร้องเพลงเรือ เป่าขลุ่ย เป่าปี่ สีซอ ดีดกระจับปี่ ดีดจะเข้ ตีโทนทับ ในเขตพระราชฐาน…” ซึ่งแสดงว่าในสมัยนี้ ดนตรีไทยเป็นที่นิยมกันมากแม้ในเขตพระราชฐาน ก็มีคนไปร้องเพลงและเล่นดนตรีกันเป็นที่เอิกเกริกเกินพอดี จนกระทั่งพระมหากษัตริย์ต้องทรงออกกฎมณเฑียรบาลดังกล่าว ลักษณะวงดนตรีไทยใสมัยนี้ มีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาขึ้นมากกว่าในสมัยสุโขทัยดังนี้ คือ 1. วงปี่พาทย์ ในสมัยนี้ก็ยังเป็นวงปี่พาทย์เครื่องห้า เช่นเดียวกับในสมัยสุโขทัย แต่มีระนาดเอกเพิ่มขึ้นในวงปี่พาทย์เครื่องห้าชนิดหนัก ฉะนั้นจึงมีเครื่องดนตรีไทยในวงนี้ ดังนี้ ระนาดเอก, ปี่ใน, ฆ้องวง (ใหญ่) กลองทัด, ตะโพน, ฉิ่ง 2. วงมโหรี ในสมัยนี้พัฒนามาจากวงมโหรีเครื่องสี่ ในสมัยสุโขทัยเป็นวงมโหรีเครื่องหก เพราะได้เพิ่มเครื่องดนตรีเข้าไปอีก 2 ชิ้น คือ ขลุ่ย และรำมะนา ทำให้วงมโหรีในสมัยอยุธยาประกอบด้วยเครื่องดนตรี จำนวน 6 ชิ้น คือ ซอสามสาย, กระจับปี่ (แทนพิณ), ทับ ( โทน ), รำมะนา, ขลุ่ย, กรับพวง วงดนตรีไทยสมัยกรุงธนบุรี เนื่องจากในสมัยนี้เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงแค่ 15 ปี และประกอบกับเป็นสมัยที่บ้านเมืองกำลังก่อร่าง สร้างเมือง และการป้องกันประเทศเสียโดยมาก วงดนตรีไทยในสมัยนี้จึงไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงขึ้น สันนิษฐานว่ายังคงเป็นลักษณะ และรูปแบบของดนตรีในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง วงดนตรีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ในสมัยนี้เมื่อบ้านเมืองได้ผ่านพ้นจากภาวะศึกสงคราม และได้มีการก่อสร้างเมืองให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น เกิดความสงบร่มเย็นโดยทั่วไป แล้วศิลปวัฒนธรรมของชาติ ก็ได้รับการฟื้นฟูทะนุบำรุงส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น โดยเฉพาะทางด้านดนตรีไทยในสมัยนี้ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเจริญขึ้นเป็นลำดับดังต่อไปนี้ สมัยรัชกาลที่ 1 ดนตรีไทยในสมัยนี้ส่วนใหญ่ยังคงมีลักษณะ และรูปแบบตามที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่พัฒนาขึ้นบ้างในสมัยนี้ก็คือ การเพิ่มกลองทัดขึ้นอีก 1 ลูก ในวงปี่พาทย์ ซึ่งแต่เดิมนั้นมีแค่ 1 ลูก พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 1 วงปี่พาทย์มีกลองทัด 2 ลูก คือ เสียงสูง (เรียกว่า ตัวผู้) 1 ลูก, เสียงต่ำ(เรียกว่า ตัวเมีย) 1 ลูก ในวงปี่พาทย์ก็เป็นที่นิยมกันมาจนกระทั่งทุกปัจจุบันนี้ สมัยรัชกาลที่ 2 ในสมัยนี้เป็นยุคทองของดนตรีไทยยุคหนึ่ง ทั้งนี้เพราะองค์พระมหากษัตริย์ทรงสนพระทัยดนตรีไทยเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในทางดนตรีไทย ถึงขนาดที่ทรงดนตรีไทยคือซอสามสายได้ และมีซอคู่พระทัยชื่อ “ ซอสายฟ้าฟาด ” อีกทั้งพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทยขึ้นเพลงหนึ่ง เป็นเพลงที่ไพเราะ และอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ คือ “ เพลงบุหลันลอยเลื่อน ” การพัฒนาเปลี่ยนแปลงของดนตรีไทยในสมัยนี้ก็คือ ได้มีการเอาวงปี่พาทย์มาบรรเลงประกอบการขับเสภาเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีกลองชนิดหนึ่งเกิดขึ้นโดยการดัดแปลงจาก “ เปิงมาง ” ของมอญ มาเป็นกลองอีกชนิดที่เรียกว่า “ สองหน้า ” ใช้ตีกำกับจังหวะแทนเสียงตะโพนในวงปี่พาทย์ ประกอบการขับเสภา เนื่องจากเห็นว่าตะโพนดังเกินไป จนกระทั่งดังกลบเสียงขับ กลองสองหน้านี้ปัจจุบันนิยมใช้ตีกำกับจังหวะหน้าทับในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง สมัยรัชกาลที่ 3 ในสมัยนี้วงปี่พาทย์ได้พัฒนาขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ เพราะได้มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้มมาคู่กับระนาดเอก และประดิษฐ์ฆ้องวงเล็กมาคู่กับฆ้องวงใหญ่ สมัยรัชกาลที่ 4 วงปี่พาทย์ได้มีการพัฒนาไปเป็นวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ เพราะได้มีการประดิษฐ์เครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นอีก 2 ชนิด คือ ระนาดเอกเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็ก นำมาบรรเลงเพิ่มในวงปี่พาทย์เครื่องคู่ ทำให้ขนาดของวงปี่พาทย์ขยายใหญ่ขึ้นจึงเรียกว่า “ วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ” นอกจากนี้ในวงดนตรีไทย ยังนิยมการร้องเพลงส่งให้ดนตรีรับเรียกว่า“ การร้องส่ง ” จนกระทั่งการขับเสภาซึ่งเคยนิยมกันมาก่อนค่อย ๆ หายไป และการร้องส่งก็เป็นแนวทางให้ผู้คิดแต่งขยายเพลง 2 ชั้นของเดิมให้เป็นเพลง 3 ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว จนกระทั่งเป็นเพลงเถา ในที่สุด ( นับว่าเพลงเถาเกิดขึ้นมากมายในสมัยนี้ ) นอกจากนี้วงเครื่องสายก็เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เช่นกัน สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปรับปรุงวงปี่พาทย์ขึ้นใหม่ชนิดหนึ่งคือ “ วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ” โดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ สำหรับใช้บรรเลงประกอบการแสดง “ละครดึกดำบรรพ์ ” ซึ่งเป็นละครที่เพิ่งปรับปรุงขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เช่นกัน หลักการปรับปรุงของท่านคือ ตัดเครื่องดนตรีชนิดที่มีเสียงสูง แหลม หรือดังเกินไปออก คงไว้แต่เครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้ม นุ่มนวล สมัยรัชกาลที่ 6 มีการนำวงดนตรีของชาวรามัญ(มอญ) มาผสมกับวงปี่พาทย์ไทยเรียกว่า“วงปี่พาทย์มอญ” โดยหลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง)เป็นผู้ปรับปรุงขึ้น มีทั้ง วงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า, เครื่องคู่และเครื่องใหญ่ และกลายเป็นที่นิยมใช้บรรเลงประโคมใน งานศพจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ท่านยังได้มีการนำเครื่องดนตรีของชวา หรืออินโดนีเซีย คือ“อังกะลุง” (ชาวชวาเรียกว่า“อุงคลุง”) มาเผยแพร่เป็นคนแรก โดยนำมาดัดแปลง ปรับปรุงขึ้นใหม่ให้มีเสียงครบ 7 เสียง(เดิมมี 5 เสียง) ปรับปรุงวิธีการเล่นโดยถือเขย่าคนละ 2 เสียง กลายเป็นเครื่องดนตรีไทยอีกอย่างหนึ่ง และมีการนำขิมของจีน, ไวโอลิน และออร์แกนของฝรั่ง ทำให้ วงเครื่องสายพัฒนารูปแบบของวงไปอีกลักษณะหนึ่ง คือ “ วงเครื่องสายผสม ” สมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสนพระทัย ทางด้านดนตรีไทยมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทย ไว้ถึง 3 เพลง คือ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง3ชั้น, เพลงเขมรลออองค์เถา และเพลงราตรีประดับดาวเถา พระองค์และพระราชินี ได้โปรดให้ครูดนตรีเข้าไปถวายการสอนดนตรีถึงในวัง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ระยะเวลาแห่งการครองราชย์ของพระองค์ไม่นานนัก เนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลง การปกครอง และพระองค์ทรงสละราชบัลลังก์ไปก่อน มิฉะนั้นแล้วดนตรีไทยก็คงจะเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยของพระองค์ อย่างไรก็ตามดนตรีไทยในสมัยรัชกาลนี้ นับว่าได้พัฒนารูปแบบ และลักษณะมาจนกระทั่งสมบูรณ์เป็นแบบแผนดังเช่นในปัจจุบันนี้ สมัยรัชกาลที่ 9 ในสมัยรัชกาลที่ 9 นี้ได้เกิดมีวงดนตรีไทยแบบใหม่ขึ้นมาอีก เรียกว่า “ วงมหาดุริยางค์ไทย ” ผู้ที่คิดปรับปรุงวงดนตรีประเภทนี้ก็คือ อาจารย์ประสิทธิ์ ถาวร เครื่องดนตรีประกอบไปด้วย กลุ่มเครื่องดนตรีไทยทุก ๆ ตระกูล และในแต่ละชนิดนั้นก็ใช้ผู้เล่นเป็นจำนวนมาก โดยใช้ผู้เล่นถึง 600 คนเศษเลยทีเดียว

 

กลับไปหน้าหลัก
Free Web Hosting