จังหวะ |
จังหวะเพลงไทยไม่ได้กำหนดอย่างแน่นอนเหมือนกับเพลงตะวันตก นักดนตรีต่างวงอาจเล่นเพลงเดียวกันด้วยจังหวะที่แตกต่างกันก็ได้ เพลงไทยมีการแบ่งเพลงตามอัตราจังหวะ ออกเป็น ๓ ระดับด้วยกันคือ ๑. อัตราจังหวะชั้นเดียว เป็นลักษณะของเพลงไทยในยุคแรก มีต้นกำเนิดมาจากเพลงพื้นบ้านหรือ เพลงประกอบการเต้นรำ เป็นเพลงที่มีจังหวะเร็ว หรือเรียกว่าเพลงเร็ว เพลงชั้นเดียวจะร้องเอื้อนน้อย หรือไม่มีการร้องเอื้อนเลยก็ได้ ใช้ขับร้องและบรรเลงประกอบการแสดงมหรสพต่างๆ ตัวอย่างเพลงชั้นเดียว ได้แก่ เพลงนาคราช เพลงหนีเสือ ๒. อัตราจังหวะสองชั้น มีจำนวนห้องเพลงเป็นสองเท่าของชั้นเดียว มีจังหวะปานกลาง ไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป ส่วนใหญ่เป็นเพลงสั้นๆ ที่ร้องและจำทำนองง่าย ใช้ขับร้องและบรรเลงเพื่อเป็นการขับกล่อม และประกอบการแสดงมหรสพต่างๆ ตัวอย่างเพลงสองชั้น ได้แก่ เพลงนางนาค เพลงสร้อยเพลง ๓. อัตราจังหวะสามชั้น เกิดในสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อใช้ร้องสักวาซึ่งผู้เล่นต้องด้นสดและมีเวลาคิดกลอนน้อย มีจำนวนห้องเพลงเป็นสองเท่าของ ๒ ชั้นหรือสี่เท่าของชั้นเดียว มีจังหวะช้า ต้องใช้เวลาบรรเลงและขับร้องนานกว่าเพลงในอัตราอื่นๆ ทำนองร้องจะมีการร้องเอื้อนยาวๆ ใช้ขับร้องและบรรเลงในโอกาสทั่วไป ตัวอย่างเพลงสามชั้น ได้แก่ เพลงนกขมิ้น เพลงกล่อมพระบรรทม เราสามารถสังเกตได้ว่าเป็นเพลงจังหวะใดได้โดยสังเกตจากเสียง ฉิ่ง และ กลอง ซึ่งเรียกจังหวะที่เกิดจากเครื่องดนตรีทั้งสองชนิดนี้ว่า “จังหวะหน้าทับ” ที่ปรากฏในแต่ละ ห้องเพลง เพลงไทยมีการแบ่งห้องเพลงออกเป็นเลขคู่ ใน ๑ ชุดหรือ ๑ แถว จะมี ๘ ห้องหรือ ๔ ห้อง ในแต่ละห้องจะมี ๔ จังหวะ และในแต่ละจังหวะคือ ๑ ตัวโน้ต เสียงฉิ่งในเพลงแต่ละอัตราจังหวะมีดังนี้ จังหวะ ๓ ชั้น | - - - - | - - - ฉิ่ง| - - - - | - - - ฉับ| จังหวะ ๒ ชั้น | - - - ฉิ่ง| - - - ฉับ| - - - ฉิ่ง| - - - ฉับ| จังหวะชั้นเดียว | - ฉิ่ง - ฉับ| - ฉิ่ง - ฉับ| - ฉิ่ง - ฉับ| - ฉิ่ง - ฉับ| |
ย้อนกลับ |